วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

4 เรื่องควรรู้ ทำประกันสุขภาพให้คุ้มค่าและตรงความต้องการ

1.ทำไมประกันสุขภาพถึงเป็นเรื่องสำคัญ?

      หลายคนอาจจะยังรู้สึกว่า ทำไมต้องทำประกันสุขภาพ? ยิ่งเราเองเป็นคนรักษาสุขภาพ แข็งแรง ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยต้องนอนโรงพยาบาล โอกาสที่จะได้ใช้แทบไม่ค่อยมี แล้วจะจ่ายเบี้ยประกันแพงๆทิ้งไปทุกปีๆทำไม?
      จริงอยู่ที่ถ้าเราเป็นคนที่แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เราคงจะมีโอกาสเจ็บป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ตลอดชีวิตของเราจะไม่มีวันเกิดเรื่องร้ายแรงหรือเหตุไม่คาดฝันขึ้นได้อย่างแน่นอน เพราะของแบบนี้ ไม่ต้องรอให้โอกาสเกิดขึ้นบ่อยๆ ขอแค่เกิด ”แจ็คพ็อต” ขึ้นแค่ครั้งเดียว ก็อาจจะเพียงพอแล้วที่จะทำให้การเงินเราเสียหายร้ายแรง ทรัพย์สินที่เคยมีอยู่ก็อาจจะหายไปจนหมด
เงินเก็บเงินลงทุนต่างๆที่วางแผนไว้ว่าจะได้ใช้ในอนาคตก็อาจจะต้องถูกดึงมาใช้จนเหลือไม่พอ ทำให้เป้าหมายชีวิตและเป้าหมายการเงินต่างๆที่เคยวางไว้ต้องพังทลาย ร้ายแรงกว่านั้นอาจไปเดือดร้อนถึงทรัพย์สินของคนอื่นด้วย ถ้าทรัพย์สินที่มีอยู่ของเราไม่เพียงพอ และตอนนี้โอกาสที่จะเป็นโรคต่างๆก็มีมากขึ้น เพราะนับวันก็ยิ่งจะมีโรคแปลกใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ จนเราไม่ทันระวังตัว
        นอกจากเรื่องความเสี่ยงจากโรคร้ายแรงหลายชนิดแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือเรื่อง “ค่ารักษาพยาบาล” ที่นับวันก็จะยิ่งแพงขึ้นเรื่อยๆ จากต้นทุนที่สูงขึ้นของนวัตกรรมทางการแพทย์ ทั้งยารักษา เครื่องไม้เครื่องมือ และเทคโนโลยีแพทย์ (นั่นคือสาเหตุว่าทำไมการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare จึงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี) ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาพบว่า เงินเฟ้อเรื่องค่ารักษาพยาบาลโดยเฉลี่ยนั้นสูงถึงประมาณ 8% ต่อปี! (อาหารและข้าวของเครื่องใช้อยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี) หรือจากค่าห้องโรงพยาบาลชั้นนำประมาณ 7,000 บาทต่อคืนเมื่อ 10 ปีแล้ว กลายเป็นประมาณ 15,000 บาทต่อคืน ในปัจจุบัน! ไม่นับเรื่องค่ารักษาพยาบาลด้านอื่นๆอีก ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสมัยนี้ แม้ไม่ต้องเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง อย่างแค่ผ่าตัดไส้ติ่ง หรือท้องเสียเข้าโรงพยาบาล นอนอยู่ไม่กี่คืน เช็คบิลออกมาก็อาจจะหมดไปเกือบแสนได้!
        ครั้นจะประหยัดเงินค่ารักษาด้วยการใช้สวัสดิการที่มีอยู่ ไม่ว่าจากสิทธิ์ข้าราชการ จากบริษัท หรือจากรัฐบาล ในการรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ ก็ต้องเผชิญกับการรอคอยการต่อคิวที่ยาวเหยียด (เพราะต่างคนต่างก็ใช้สิทธิ์เบิกโรงพยาบาลรัฐกันเป็นจำนวนมาก) หากเจ็บป่วยร้ายแรงขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าจะต้องรอเข้ารับการรักษาอีกนานแค่ไหน
         พูดง่ายๆก็คือ ในปัจจุบัน ถ้าเราอยากจะได้รับการบริการที่ดี ไม่ว่าจะเกิดเรื่องร้ายแรง (ที่นับวันจะยิ่งทวีความหลากหลายมากขึ้น) มากน้อยแค่ไหน เราก็มีความเสี่ยงที่จะเสียค่ารักษาแพงๆได้ไม่ต่างกัน
         ถ้ารถที่เราขับ มีการทำประกันรถยนต์คุ้มครองกันแทบทุกคัน แต่คนที่ขับกลับไม่มีประกันอะไรคุ้มครองชีวิตและสุขภาพตัวเองเลย (รถชนจนต้องเข้าโรงพยาบาล รถเบิกค่าเสียหายได้ แต่เรากลับเบิกอะไรไม่ได้) มันคงเป็นเรื่องที่ฟังแล้วแปลกๆน่าดู

2.ประเภทของประกันสุขภาพ
         ถ้าเข้าใจในความสำคัญของการทำประกันสุขภาพ และเริ่มสนใจจะทำแล้ว แล้วประกันสุขภาพมีกี่ประเภทกันล่ะ ให้เราได้เลือกใช้ ประกันสุขภาพนั้นเป็น “สัญญาเพิ่มเติม” (Rider) หรือเป็นออฟชั่นเสริม ไว้ทำพ่วงกับประกันชีวิตตัวหลัก ซึ่งก็มีมากมายหลายประเภท แบ่งเป็นหมวดหลักๆได้ 3 หมวดได้แก่ 1.กลุ่มค่าชดเชยทั่วไป 2.กลุ่มค่าชดเชยอุบัติเหตุ และ 3.กลุ่มค่าชดเชยโรคร้ายแรง ซึ่งชื่อย่อแต่ละตัว ของแต่บริษัทอาจจะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่โดยทั่วไปก็จะมีชื่อย่อดังนี้

กลุ่มค่าชดเชยทั่วไป
  • WP (Waiver of Premium) = บริษัทจะจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตตัวหลักแทนคนทำประกันให้ ถ้าคนที่ทำกลายเป็นผู้ทุพพลภาพ
  • PB (Payer Benefit) = ถ้าคนทำประกันเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แล้วมีผู้ปกครองเป็นคนจ่ายค่าเบี้ยประกันให้ หากผู้ปกครองที่จ่ายเบี้ยประกันเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ บริษัทจะจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนให้
  • HS (Hospital & Surgical Rider) = ชดเชยกรณีเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ทั้งค่าห้อง ค่าหมอ ค่ายา ค่าผ่าตัด ฯลฯ ปัจจุบันมีทั้งแบบแยกจ่ายตามรายการ และแบบเป็นวงเงินเหมาจ่ายรายปี
  • HB (Hospital Benefit) = จ่ายชดเชยรายวัน กรณีที่นอนโรงพยาบาล
กลุ่มค่าชดเชยอุบัติเหตุ ไล่เรียงการคุ้มครองจากมากไปน้อย
  • AR1 (Accident Rider ขั้นที่ 1) = จ่ายชดเชยทั้งกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล, กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ
  • AR2 (Accident Rider ขั้นที่ 2)= จ่ายชดเชยเฉพาะกรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต จากอุบัติเหตุ
  • AR3 (Accident Rider ขั้นที่ 3)= จ่ายชดเชยกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเท่านั้น
  • RCC (Riot Civil Commotion) = เป็นตัวเพิ่มเติมให้ AR แต่ละขั้นให้ครอบคลุมกรณีอุบัติเหตุที่เกิดจากเหตุการณ์จลาจล สงครามกลางเมือง หรือการก่อการร้ายด้วย
กลุ่มค่าชดเชยโรคร้ายแรง
  • CR(Cancer Rider) = จ่ายชดเชยเมื่อเป็นมะเร็ง และกรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลจากการเป็นโรคในกลุ่มโรคมะเร็ง เช่น โรคมะเร็งตามจุดต่างๆ(ยกเว้นผิวหนัง)
  • CI (Critical Illness Rider) = จ่ายชดเชยเป็นเงินก้อนใหญ่ให้ทันที หากตรวจพบว่าเป็นโรคร้ายแรง (ประมาณกว่า 30โรค ส่วนจะมีโรคอะไรบาง ต้องไปดูในรายละเอียดเอานะครับ) ซึ่งมีทั้งแบบที่จ่ายตั้งแต่เป็นโรคร้ายระยะเริ่มต้น หรือจ่ายเมื่อเป็นระยะร้ายแรง เพื่อให้ได้ความคุ้มครองครอบคลุม เราควรเลือกแบบที่จ่ายตั้งแต่เมื่อเป็นระยะเริ่มต้น
       เราสามารถเลือกซื้อประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมแต่ละตัวตามนี ได้เท่าที่เราต้องการหรือคิดว่าจำเป็นเลยได้เลย

3.เงื่อนไขในการทำ และการเบิกประกันสุขภาพ
       ก่อนจะทำประกันสุขภาพที่ว่ามา มีเรื่องที่เราควรจะต้องทำความเข้าใจ ทั้งเงื่อนไขในการทำ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินชดเชย ดังนี้ครับ
  • ประกันสุขภาพเป็นสัญญาเพิ่มเติม อย่างที่บอกไว้ในข้อ 2 ดังนั้นจะทำได้ต้องทำประกันชีวิตตัวหลักก่อน แล้วจึงซื้อพ่วงเข้าไป ไม่สามารถซื้อแยกเดี่ยวๆ โดยไม่มีประกันชีวิตได้ (ยกเว้นของบางที่อาจจะจัดเป็นแพ็คเกจ ซื้อเป็นประกันสุขภาพแยกเดี่ยวๆได้เลย เพราะมีการพ่วงทุนประกันชีวิตเข้าไว้ด้วยแล้ว จึงไม่ต้องทำประกันชีวิตเพิ่ม)
  • เบี้ยที่จ่าย เป็นเบี้ยจ่ายทิ้งปีต่อปี นั่นหมายความว่า หากไม่มีการเคลม เราก็จะเสียค่าเบี้ยในปีนั้นไปเฉยๆ (เหมือนกรณีประกันรถยนต์)
  • เนื่องจากเป็นสัญญาที่มีการคุ้มครองปีต่อปี ดังนั้น หากปีต่อไปพิจารณาแล้วว่าไม่ต้องการการคุ้มครอง ก็สามารถยกเลิกประกันสุขภาพตัวนั้นๆ ไม่ต้องจ่ายเบี้ยต่อได้ แต่ถ้ายกเลิกแล้ว จะไม่สามารถขอกลับมาทำใหม่ได้ (ต้องซื้อใหม่ โดยพ่วงกับประกันชีวิตเดิมที่มีอยู่แล้ว หรือซื้อกรมธรรม์ชีวิตใหม่)
  • คนที่จะทำได้ ต้องมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีโรคประจำตัว และตอนทำประกันต้องแถลงข้อมูลเรื่องสุขภาพตามความเป็นจริง ห้ามปิดบัง ไม่อย่างนั้นถ้าตรวจพบความจริงทีหลัง บริษัทสามารถปฏิเสธการเคลมได้ (หรือหากมีโรคประจำตัวมาก่อน บริษัทอาจจะรับทำประกันให้ แต่จะถูกเพิ่มค่าเบี้ยประกัน หรือไม่ก็คุ้มครองเฉพาะโรคอื่นๆ ไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนอยู่แล้ว แล้วแต่การพิจารณาของแต่ละบริษัทครับ)  
  • ประกันสุขภาพบางตัว มีระยะเวลารอคอย ไม่ใช่ว่าอนุมัติแล้วจะคุ้มครองเลยทันที โดยเฉพาะตัวที่อยู่ในกลุ่มโรคร้ายแรง อาจจะมีระยะเวลารอคอยประมาณ 30-120 วัน ถ้าเกิดอาการระหว่างนี้อาจจะไม่คุ้มครอง (แต่ถ้าเราแน่ใจว่าไม่เคยเป็นโรคนั้นมาก่อน แล้วเกิดอาการระหว่างนี้ ก็สามารถทำเรื่องยื่นชี้แจงกับบริษัทได้)
  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบางตัวคงที่ บางตัวปรับเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นอาจจะต้องวางแผนการจ่ายเบี้ยให้เหมาะสมด้วย เมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ
4.ข้อควรพิจารณาในการทำประกันสุขภาพ
       ก่อนจะทำประกันสุขภาพ อยากจะฝากหลักคิด หรือเทคนิคเล็กๆน้อยๆ ในการทำประกันสุขภาพไว้ให้พิจารณาดังนี้
       ควรทำให้ครอบคลุม ทั้งค่าห้อง (ควรเป็นแผนที่ให้ความคุ้มครองแบบเหมาจ่ายค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล) อุบัติเหตุ โรคร้ายแรง (ไว้กรณีทุพพลภาพ)
       ควรพิจารณาศักยภาพในการจ่ายเบี้ย ไม่ควรเกิน 10-15% ของรายได้รวมทั้งปี
วางแผนจ่ายเบี้ยประกันให้ดีด้วยการวางแผนวิเคราะห์กระแสเงินสดล่วงหน้า เพื่อให้แน่ใจว่ายังมีศักยภาพในการจ่ายเบี้ยประกันที่สูงขึ้นได้ หากไม่ไหว อาจจะต้องแบ่งเงินอีกส่วนไว้ลงทุนควบคู่ไปกับการทำประกันสุขภาพ เพื่อที่วันหนึ่งจะได้มีเงินทุนอีกก้อนมาช่วยจ่ายค่าเบี้ยประกันตอนอายุมากๆ
  • หากเป็นไปได้ ควรทำประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งเรื่องค่ารักษาตัวในโรงพยาบาล (HS) ไว้สำหรับกรณีเจ็บป่วยทั่วไป รวมถึงเรื่องอุบัติเหตุ ( AR) และโรคร้ายแรง (CRหรือ CI) ไว้ด้วย เพื่อป้องกันความเสี่ยงกรณีทุพพลภาพ (ซึ่งอาจจะเกิดได้จากทั้งกรณีอุบัติเหตุ ทำให้เราพิการ หรือจากโรคร้ายแรง เช่นหลอดเลือดในสมองแตก ทำให้เป็นเจ้าชายนิทรา ทำให้เรายังมีชีวิตอยู่ต่อไป โดยที่ความสามารถในการหารายได้ลดลง หรือหาไม่ได้เลย และอาจจะมีค่ารักษาตัวอย่างต่อเนื่องร่วมด้วย) จะได้ครอบคลุมความเสี่ยงเรื่องสุขภาพได้ทั้งหมด
  • เบี้ยประกันสุขภาพที่เหมาะสม ควรจะอยู่ในระดับที่เราจ่ายไหว เหมาะสมกับรายรับของเรา ไม่มากไป หรือน้อยเกินไป เพื่อให้เราสามารถจ่ายเบี้ยคุ้มครองได้อย่างยั่งยืน (ไม่ใช่ทำไปไม่นานก็รู้สึกว่าจ่ายไม่ไหวจนต้องยกเลิก) ซึ่งไม่ควรจะเกินประมาณ 10-15% ของรายได้รวมทั้งปีของเราครับ (เช่น เงินเดือนเราเดือนละ 50,000 หรือปีละ 600,000 ก็ควรจะจ่ายเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 60,000-90,000 บาทต่อปี) มีเงินน้อย ก็ทำแต่น้อยก่อน เมื่อรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ค่อยทำเพิ่ม
  • ควรวางแผนจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพให้ดี เพราะประกันสุขภาพบางตัวเบี้ยจะแพงขึ้นเรื่อยๆตามอายุ ดังนั้นถ้าจะให้ดีก็ควรวางแผนวิเคราะห์กระแสเงินสดรายรับรายจ่ายล่วงหน้าหลายๆปี เพื่อให้แน่ใจว่า ในอนาคตเรายังจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพไหว (ดังน้นเราควรขอตารางค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จากตัวแทนที่เราทำประกันด้วย เพื่อดูค่าเบี้ยประกันในการใช้วางแผนล่วงหน้า)
       จากข้อข้างบน ถ้าเรามองว่า เรายังอยากมีประกันสุขภาพตอนอายุมากๆ แต่คิดว่าจ่ายเบี้ยเองไม่ไหว เราสามารถแก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการวางแผนการลงทุนควบคู่ไปกับการทำประกันสุขภาพในปัจจุบันครับ ซึ่งจุดประสงค์ของการลงทุน ก็เพื่อสร้างกองทุนค่ารักษาพยาบาลตอนเราอายุมากๆ โดยให้เราถอนเงินจากพอร์ตการลงทุนนี้ของเรา มาจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันให้แทน (ใช้ทั้งเงินลงทุน และผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว มาช่วยจ่ายค่าเบี้ยประกันให้ ทำให้ภาระในการจ่ายค่าเบี้ยประกันของเราลดลง)
        ซึ่งตรงจุดนี้ ไม่ว่าจะเรื่องการทำงบกระแสเงินสดล่วงหน้าในการวางแผนจ่ายเบี้ยประกันตอนอายุเยอะๆ หรือเรื่องการวางแผนการลงทุนเพื่อให้เป็นกองทุนค่ารักษาพยาบาล หากใครคิดว่ายุ่งยากซับซ้อน ไม่มีทักษะความรู้พอในการวางแผน แนะนำให้ติดต่อนักวางแผนทางการเงินมืออาชีพมาให้ช่วยวางแผนให้เราก็ได้ จะได้ช่วยให้เรามั่นใจมากขึ้นด้วย (หากไม่รู้จักใครก็ติดต่อมาได้เลย ^^)


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น